วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > On Globalization > ABENOMICS

ABENOMICS

 
นับตั้งแต่ต้นปี 2013 ที่ผ่านมา วลียอดฮิตในหมู่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจญี่ปุ่นคงหนีไม่พ้น Abenomics ที่เป็นประหนึ่งแนวทางในการบริหารเศรษฐกิจการคลังของรัฐนาวาญี่ปุ่น ภายใต้การนำของ Shinzo Abe ที่หวนกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอีกครั้ง ภายหลังชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2012 ที่ผ่านมา
 
Abenomics กลายเป็นความหวังครั้งใหม่ที่ Shinzo Abe และพลพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP: Liberal Democratic Party) ได้ใช้ในการหาเสียง และทำให้พรรค LDP กลับเข้าสู่วงแห่งอำนาจได้อีกครั้งในเวลาต่อมา ภายใต้ความเชื่อที่ว่ากลไกของ Abenomics จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้หวนคืนกลับมาสู่ความมั่งคั่งและรุ่งเรืองได้อีกครั้ง 
 
กลไกหลักของ Abenomics หากจะกล่าวอย่างรวบรัดตัดความก็คงจะได้ประมาณว่าประกอบด้วยมาตรการ “ลูกธนู 3 ดอก” คือเริ่มจากการระดมงบประมาณเพื่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ตามด้วยมาตรการทางการเงินเชิงรุกอย่างแข็งขันจากธนาคารกลางแห่งชาติ หรือ Bank of Japan และท้ายที่สุดคือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจชนิดที่ต้องเรียกว่า “รื้อสร้าง” เพื่อสร้างเสริมความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่นขึ้นมาใหม่กันเลยทีเดียว
 
ความตกต่ำและซบเซาของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นประเด็นปัญหาที่ดำเนินสืบเนื่องยาวนานมากว่า 2 ทศวรรษและมีแนวโน้มจะหนักหนาสาหัสกว่านี้ในช่วงก่อนที่ Shinzo Abe จะกลับมารับตำแหน่งรอบใหม่ หลังจากที่ค่าเงินเยนแข็งค่าเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 70-80 กว่าเยนต่อดอลลาร์ ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนอยู่ในอาการชะงักงันยาวนาน และทำให้ญี่ปุ่นต้องจมดิ่งอยู่กับภาวะเงินฝืดเฉลี่ยที่ 0.2% ต่อปีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาด้วย
 
มาตรการเบื้องต้นที่ Shinzo Abe ได้ดำเนินการผ่าน Abenomics อย่างได้ผลก็คือการเข้าแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา ที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวลงกว่าร้อยละ 20 ซึ่งทำให้เงินเยนปรับค่ามาอยู่ที่ระดับประมาณ 100เยนต่อดอลลาร์ อย่างรวดเร็วภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2013 หรือเพียง 2 เดือนหลังการเข้ารับตำแหน่งเท่านั้น
 
ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงนี้ ไม่ได้มีผลเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น หากแต่ยังมีผลทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ โดยรวมด้วย ซึ่งกรณีดังกล่าวมีผลทางจิตวิทยาอย่างกว้างขวาง เพราะทำให้สินค้าและบริการจากญี่ปุ่นมีราคาลดต่ำลงจากช่วงก่อนหน้าอย่างมาก 
 
และนี่คงเป็นเหตุให้ในช่วงที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลกลับเข้าไปในญี่ปุ่นอย่างเอิกเกริก และทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นได้รับอานิสงส์โดยตรงไปโดยปริยาย ยังไม่นับรวมเรื่องที่สถานทูตญี่ปุ่นจะช่วยงดเว้นการขอวีซ่าเข้าประเทศเป็นการชั่วคราว ซึ่งยิ่งทำให้การเดินทางไปญี่ปุ่นสะดวก ง่ายดาย และประหยัดยิ่งขึ้นไปอีก แต่จะไปใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ญี่ปุ่นอย่างไรคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
 
ก่อนหน้านี้ ตลาดหลักทรัพย์ในกรุงโตเกียวได้ตอบสนองต่อชัยชนะของพรรค LDP และ Shinzo Abe ไปก่อนแล้ว โดยทันทีที่ผลการเลือกตั้งออกมาว่า พรรค LDP จะได้กลับเข้ามาบริหารประเทศ ดัชนี Nikkei ตลาดโตเกียวซึ่งตกต่ำอยู่ใต้ระดับ 10,000 จุดมาตลอดทั้งปี 2012ก็ขานรับด้วยการปรับตัวขึ้นมาแตะระดับ 1 หมื่นจุด และวิ่งทะยานขึ้นไปสู่ระดับ 17,000 ในปัจจุบัน
 
สิ่งที่เกิดขึ้นที่ว่านี้ ในด้านหนึ่งยังเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้น เพราะในความเป็นจริงภายใต้เป้าหมายที่จะนำพาเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้ก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยอัตราเงินเฟ้อระดับ 2% ของ Abenomics ยังนำไปสู่การประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและคุณภาพ (Quantitative and Qualitative Easing: QQE) ที่มุ่งลดอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรระยะยาว และส่งเสริมให้มีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งจะดำเนินไปด้วยการอัดฉีดเงินจำนวน 2.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เข้าสู่ระบบในระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2013 เพื่อให้ฐานการเงินขยายเป็น 2 เท่าจากสิ้นปี 2012 ที่อยู่ในระดับ 1.38 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
 
ปริมาณเงินอัดฉีดดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็น “เม็ดเงิน” จำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับมาตรการ QE ของอเมริกาที่อัดฉีดเงินไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมา และจะส่งผลให้สัดส่วนการถือครองสินทรัพย์ของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BOJ) เมื่อเทียบกับ GDP แซงหน้าประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในยูโรโซนไปโดยปริยาย
 
มาตรการภายใต้ Abenomics ซึ่งไม่ว่าจะเรียกขานในฐานะที่เป็นนโยบายประชานิยมหรือไม่ก็ตาม ได้ส่งผลให้กระแสความนิยมและการยอมรับของประชาชนชาวญี่ปุ่นต่อรัฐบาลของ Shinzo Abe เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 74% ซึ่งถือเป็นอัตราความนิยมในรัฐบาลที่สูงมากในรอบหลายปีทีเดียว
 
แต่เหรียญย่อมต้องมี 2 ด้าน ซึ่งนักวิเคราะห์เศรษฐกิจจำนวนไม่น้อยกำลังกังวลใจเกี่ยวกับ Abenomics โดยบางส่วนประเมินว่าค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงนี้เป็นเพียง “มายาภาพ” ที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนอยู่ในต่างแดนอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และอาจร้องขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาตรการชดเชยความเสียหายให้กับพวกเขาซึ่งจะทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระทางการเงินเพิ่มขึ้นอีก
 
ขณะที่โครงการลงทุนภาครัฐ อาจส่งผลในเชิงลบไม่แตกต่างจากนโยบายเร่งขยายการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคของรัฐบาลชุดก่อนหน้า และอัตราเงินเฟ้ออาจส่งผลที่ไม่พึงประสงค์ให้เกิดการบริโภคและใช้จ่ายน้อยลงในระยะถัดไป แม้ว่า Abenomics จะวางมาตรการสำหรับการปรับเพิ่มเงินเดือนให้กับภาคแรงงานและพนักงานบริษัทก็ตาม
 
แต่ประเด็นที่แหลมคมที่สุดของ Abenomics ก็คือ “ลูกธนูดอกสุดท้าย” หรือลูกธนูดอกที่ 3 เพราะดูเหมือนว่า Abenomics จะยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนสำหรับอนาคตได้ และทำให้ลูกธนูลูกสุดท้าย ที่ควรจะเป็น “ทีเด็ด” ในการจัดการกับปัญหาเรื้อรัง กลายเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นอีกมาตรการหนึ่ง ที่กำลังจะเพิ่มภาระหนี้สาธารณะให้หนักหน่วงขึ้นอีกมาตรการหนึ่งเท่านั้น
 
แม้ว่าหนทางแห่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงทอดยาวอยู่ข้างหน้าอีกไกล แต่ดูเหมือนว่าบนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ Shinzo Abe และ Abenomics จะถูกกระแสแห่งความคาดหวัง จ้องรอคอยเป็นกับดักอยู่ข้างหน้าเสียแล้ว
 
การประกาศยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งก่อนกาล (snap election) ในเดือนธันวาคมนี้ จึงเป็นประหนึ่ง การขอประชามติว่า Shinzo Abe จะได้รับฉันทานุมัติให้นำพาญี่ปุ่นต่อไปหรือไม่ และเป็นการพิพากษาอนาคตของ Abenomics ไปด้วยในคราวเดียวกัน
 
นี่จึงเป็นบริบทแห่งความเป็นไปของ Abenomics ที่น่าสนใจติดตามไม่น้อยเลย