วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > On Globalization > MEGAPOLIS: 2030

MEGAPOLIS: 2030

 
Column: AYUBOWAN
 
ท่านผู้อ่านเห็นหัวเรื่องคอลัมน์สัปดาห์นี้แล้ว อย่าเพิ่งเข้าใจผิดคิดว่าเป็นชื่อของงานเขียนอีกชิ้นหนึ่งของ Arthur C.Clarke นะคะ และนี่ก็คงมิได้เป็นเพียงโครงการในจินตนาการฝันเฟื่อง หากแต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้เป็นเข็มมุ่งในเชิงนโยบายและกรอบโครงแผนพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นในศรีลังกานับจากนี้
 
โครงการพัฒนาเขตเมืองโคลัมโบและพื้นที่โดยรอบซึ่งรวมเรียกว่า Western Province ของศรีลังกาภายใต้ชื่อ Megapolis ที่ว่านี้เป็นโครงการสืบเนื่องที่มีการนำเสนอมาตั้งแต่เมื่อปี 2004 เมื่อครั้งที่พรรค United National Party (UNP) ครองอำนาจและมี Ranil Wickremesinghe ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ต้องถูกพับเก็บไว้หลังจากที่ Mahinda Rajapaksa จากพรรค United People’s Freedom Alliance (UPFA) ขึ้นมามีอำนาจแทนและครองการนำมานานกว่า 10 ปี นับจากนั้น
 
แต่ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2015 ที่ผ่านมา ซึ่ง UNP เป็นฝ่ายครอบครองชัยชนะ และ Ranil Wickremesinghe ได้กลับมาครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีศรีลังกาอีกครั้ง ทำให้โครงการ Megapolis กลายเป็นกรอบโครงนโยบายว่าด้วยการพัฒนาที่พร้อมจะกระตุ้นเศรษฐกิจและกำหนดวางอนาคตของศรีลังกาครั้งใหม่ที่โดดเด่นอย่างยิ่ง
 
เพราะโครงการ Megapolis จะเป็นโครงการพัฒนาเขตเมืองชายฝั่งตะวันตกของศรีลังกาที่ทอดยาวจากเมือง Negombo ทางทิศเหนือของโคลัมโบ ไปจนถึงเมือง Beruwela ทางทิศใต้ รวมระยะทางกว่า 120 กิโลเมตรยังไม่นับรวมการขยายตัวจากฝั่งตะวันตกลึกเข้ามาในแผ่นดินทางทิศตะวันออก ซึ่งจะทำให้พื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาทั้งระบบกลายเป็นมหานครที่สามารถรองรับธุรกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมของศรีลังกายุคใหม่ได้อย่างครบครัน
 
แม้ว่าตามแผนการพัฒนา Megapolis จะยังคงให้น้ำหนักกับการพัฒนาเขตเมืองโคลัมโบในฐานะที่เป็นศูนย์กลางและหัวใจในการขับเคลื่อนองคาพยพของ Megapolis แต่สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาดังกล่าวก็คือการกระจายความหนาแน่นของประชากรออกไปยังพื้นที่โดยรอบ พร้อมกับการวางผังเมืองเพื่อรองรับกับการพัฒนาครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
 
ภายใต้แผนพัฒนา Megapolis ที่ว่านี้ เขตปกครองที่เรียกว่า Western Province ของศรีลังกาจะได้รับการออกแบบผังเมืองเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาประเทศทั้งระบบ กล่าวเฉพาะในเขตเมืองโคลัมโบเอง จะถูกจัดสรรและคัดแบ่งเป็นเขตการพัฒนา 12 เขตเพื่อเป็นการแบ่งพื้นที่ทั้งในมิติของศูนย์ธุรกรรมการเงินและพาณิชย์ ในพื้นที่รอบบริเวณ Pettah หรือศูนย์สันทนาการและพักผ่อนในพื้นที่รอบทะเลสาบ Beira Lake ใจกลางโคลัมโบ ย่านการค้าและชอปปิ้งอาเขตในบริเวณโดยรอบของ Slave Island และพื้นที่หน้าอ่าวโคลัมโบที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา
 
แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในโครงการ Megapolis นี้ก็คือการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตเมืองโคลัมโบ และผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมจากเหตุดังกล่าว ซึ่งหาก Megapolis นี้ประสบผลสำเร็จในการดำเนินการตามแผน ก็จะถือเป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์และอาจเป็นตัวแบบให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ด้วย
 
โครงการที่อยู่อาศัยและการเคหะเพื่อรองรับการรื้อย้ายและอพยพครัวเรือนผู้คนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนา Megapolis ได้รับการบรรจุไว้ในแผนและเป็นส่วนหนึ่งในการจัดแบ่งโซนนิ่งระหว่างเขตพักอาศัยและเขตพาณิชยกรรม อุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งในการขจัดปัญหาผู้พลัดถิ่นและผู้ไร้ที่อยู่อาศัยในเขตเมือง
 
ความมุ่งหมายในการพัฒนาเมืองตามโครงการ Megapolis ในครั้งนี้ แม้จะดำเนินไปท่ามกลางความคาดหวังว่าจะส่งให้ภาพลักษณ์ของโคลัมโบและพื้นที่โดยรอบกลายเป็นเมืองที่ศิวิไลซ์สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียใต้ แต่สิ่งที่รัฐบาลศรีลังกาตระหนักก็คือการพัฒนาที่ให้คุณค่ากับการรักษารากฐานทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของเมืองให้ดำเนินควบคู่กันไป
 
แผนพัฒนา Megapolis ซึ่งเป็นประหนึ่งนโยบายหลักที่ใช้ในการระดมเสียงสนับสนุนของพรรค UNP เป็นแผนที่ได้รับการส่งเสริมและร่วมมือจากรัฐบาลสิงคโปร์ โดยผ่านทาง Housing and Development Board: HDB ซึ่งต่อมาได้มอบหมายให้ CESMA หนึ่งในกลไกของ HDB มาทำการศึกษาสำรวจ ให้คำปรึกษาและออกแบบร่างพิมพ์เขียวโครงการ ก่อนที่จะยื่นเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ของศรีลังกาพิจารณาเมื่อปี 2004 แต่ถูกระงับไปเพราะผลทางการเมือง
 
Megapolis กลับขึ้นมาสู่ความสนใจของสาธารณะอีกครั้งหลังจากที่ไมตรีพละ สิริเสนา (Maithripala Sirisena) ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดี พร้อมกับร่วมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยกับพรรค UNP โดยมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับ Ranil Wickremesinghe เป็นการตอบแทนเมื่อต้นปี 2015 ที่ผ่านมา
 
สอดรับกับการเดินทางเยือนศรีลังกา K. Shanmugam รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งติดตามมาด้วยความพยายามรื้อฟื้นแผนพัฒนา Megapolis ขึ้นมาใหม่ โดยในครั้งนี้รัฐบาลสิงคโปร์ มอบหมายให้ Surbana บริษัทที่ปรึกษาและออกแบบก่อสร้างในเครือข่ายของ HDB ซึ่งมี Temasek Holdings และ CapitaLand เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ให้เข้ามาเป็นผู้ปรับปรุงแผนพัฒนาที่มีอายุกว่าทศวรรษนี้ให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันพร้อมกับดูแลและดำเนินโครงการนี้ให้สำเร็จ
 
ตลอดเวลาที่ผ่านมา UNP พยายามโจมตีแผนพัฒนาในโครงการใหญ่ๆ ในสมัยของ Mahinda Rajapaksa ว่าไม่ได้มีกรอบโครงของการพัฒนาที่ชัดเจน โครงการต่างๆ ดำเนินไปอย่างขาดความเชื่อมโยงต่อเนื่องถึงกันอย่างเป็นระบบหากเป็นเพียง piecemeal project ที่มีนัยเอื้อต่อการแสวงประโยชน์ของนักการเมืองด้วย
 
กระนั้นก็ดี ข้อน่าสังเกตจากแผนพัฒนา Megapolis ที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือการแสวงหาแหล่งเงินทุนและงบประมาณในการก่อสร้างและพัฒนาตามแผนที่ว่านี้ ซึ่งดูเหมือน Ranil Wickremesinghe ก็ตระหนักในเรื่องดังกล่าวนี้ และไม่ลงรายละเอียดแหล่งที่มาของเงินลงทุน นอกจากจะระบุว่า ที่ประชุมประเทศผู้ให้บริจาค Tokyo Donor Conference ได้อนุมัติวงเงิน 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
 
แต่นั่นก็เป็นวงเงินก้อนใหญ่ที่แผนการพัฒนาเขตเมืองโคลัมโบเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งในหลากหลายโครงการที่ขอการสนับสนุนเท่านั้น และดูเหมือนว่ารัฐบาลศรีลังกากำลังคาดหวังการสนับสนุนจากรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อให้โครงการ Megapolis เดินหน้าไปได้ ซึ่งจะเป็นการเปิดทางให้ทุนจากสิงคโปร์รุกกลับเข้ามาในศรีลังกาอีกครั้ง หลังจากที่โดนอภิมหาโครงการจากจีนบดบังในช่วงกว่าทศวรรษของรัฐบาล Mahinda Rajapaksa
 
ขณะเดียวกัน รัฐบาลศรีลังกากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดตั้งกระทรวงหรือหน่วยงานกลางขึ้นมารับผิดชอบอภิมหาโครงการ Megapolis เป็นการเฉพาะ เหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมาในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำ Mahaweli (Mahaweli Ministry: 1977) เพื่อบริหารจัดการระบบชลประทานและสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจนประสบผลสำเร็จมาก่อนหน้านี้
 
ตามเป้าหมายและกำหนดการของแผนพัฒนา Megapolis ระบุว่าโครงการพัฒนาดังกล่าวจะสามารถแล้วเสร็จเป็นผลงานชิ้นสำคัญของพรรค UNP ภายในปี 2030 
 
ซึ่งหาก Megapolis สามารถลุล่วงเป็นไปได้ตามการคาดหมายนี้ ชื่อของ Ranil Wickremesinghe ในฐานะที่เป็นผู้นำการพัฒนา “Development Leader” คงฉายโชนและสามารถครอบครองความนิยมในหมู่ประชาชนชาวศรีลังกา จนอาจทำให้พวกเขาลืม Mahinda Rajapaksa ผู้นำคนก่อนที่มีภาพของการเป็น “Warrior King” ไม่ให้มีโอกาสกลับคืนสู่อำนาจทางการเมืองได้อีก
 
และอาจจะถือเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ทางการเมืองของศรีลังกาในยุคหลังสงครามกลางเมืองที่น่าพิจารณาไม่น้อยเลย