วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Life > Neuschwanstein Castle…Part II

Neuschwanstein Castle…Part II

คราวที่แล้วได้พาผู้อ่านนั่งรถไฟจากเมืองมิวนิกมุ่งหน้าลงใต้ เดินทางไปจนถึงเมือง Fussen เมืองเล็กๆ ของแคว้นบาวาเรีย ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนีกันแล้ว ตอนนี้เราจะไปยลโฉมปราสาทแสนสวยที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของปราสาทเทพนิยายของวอลท์ ดิสนีย์ และเป็นจุดหมายหลักของเราในครั้งนี้…ตามไปชมความงามของ “ปราสาทนอยชวานชไตน์” พร้อมกันเลยค่ะ
จากที่พักในเมือง Fussen เราเดินย้อนกลับไปที่สถานีรถไฟของเมือง Fussen กันอีกครั้ง เพื่อขึ้นรถบัสไปชมปราสาทนอยชวานชไตน์ โดยไปรอขึ้นรถที่ป้ายหมายเลข 2 (Standplatz 2) และใช้บริการรถบัสสาย 73 หรือสาย 78 มาลงที่สถานี Hohenschwangau ใช้เวลาแค่ 15-20 นาทีเท่านั้น จากจุดที่ลงรถเดินต่อไปอีกประมาณ 100 เมตร จะพบกับสำนักงานจำหน่ายบัตรเข้าชมปราสาท เดินเข้าไปซื้อบัตรเข้าชมกันเลยค่ะ เพราะข้างบนปราสาทไม่มีจำหน่าย เราต้องซื้อให้เสร็จสรรพที่จุดจำหน่ายก่อนขึ้นไปชมปราสาท
การเข้าชมปราสาทนอยชวานชไตน์จะมีไกด์นำชมเป็นรอบๆ มีทั้งรอบที่เป็นภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ สามารถดูรอบเวลาการเข้าชมพร้อมภาษาที่ต้องการได้ที่บอร์ดในสำนักงานขาย ส่วนภาษาอื่นเขามี Audio Guide ไว้บริการแทน แต่ก่อนจะซื้อตั๋วควรเผื่อเวลาในการเดินทางเพื่อขึ้นไปชมปราสาทนอยชวานชไตน์ไว้สักหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพหรือละเลียดความงามของธรรมชาติ เพราะระหว่างทางที่จะขึ้นไปยังตัวปราสาทนั้นสวยงามดึงดูดให้เราแวะชื่นชมธรรมชาติสักนิด กดชัตเตอร์สักหน่อย จนอาจทำให้เลยเวลาที่จะเข้าชมปราสาทได้ง่ายๆ
จัดการเรื่องบัตรเข้าชมปราสาทเรียบร้อยแล้ว เดินทางสู่ตัวปราสาทกันเลยค่ะ จากจุดจำหน่ายบัตรเราสามารถเดินทางขึ้นสู่ตัวปราสาทนอยชวานชไตน์ได้ 3 วิธี คือ เดิน นั่งรถม้า นั่งรถบัส สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการ trekking แนะนำให้ใช้วิธีเดินขึ้น ใช้เวลาในการเดินประมาณ 40 นาที แต่ยังไม่นับรวมเวลาสำหรับการแวะถ่ายภาพและชมวิว และเป็นการเดินขึ้นเขา อาจจะเหนื่อยเล็กน้อย แต่ได้ชมวิวสวยๆ ระหว่างทาง ถือว่าคุ้ม
ใครที่ไม่เร่งรีบและอยากสัมผัสบรรยากาศย้อนยุคลองใช้บริการรถม้าดูค่ะ ใช้เวลาเดินทางแค่ 10 นาที แต่ต้องเผื่อเวลาสำหรับการรอรถม้ากันนานทีเดียว ส่วนวิธีการเดินทางในการขึ้นไปยังตัวปราสาทที่สะดวกที่สุดคงต้องยกให้กับรถบัส ใช้เวลานิดเดียว สะดวก ไม่เหนื่อย เลือกตามความสะดวกได้เลย….สำหรับเราเลือกวิธีการเดินขึ้น ทดสอบกำลังขากันสักหน่อย
ระหว่างทางที่จะขึ้นไปยังปราสาทนอยชวานชไตน์ จะพบกับปราสาทสีเหลืองตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ ชื่อว่า “ปราสาทโฮเฮ็นชวานเกา” ปราสาทอันเป็นที่ประทับเมื่อยังทรงพระเยาว์ของพระเจ้าลุดวิกที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนอยชวานชไตน์ที่เรากำลังจะขึ้นไปชม
ปราสาทโฮเฮ็นชวานเกา (Schloss Hohenschwangau) สร้างเป็นพระราชวังฤดูร้อนของพระเจ้าแม็กซิมิเลียนที่ 2 แห่งบาวาเรีย (Maximilian II of Bavaria) พระบิดาของพระเจ้าลุดวิกที่ 2 โดยตัวปราสาทสร้างบนซากปราสาทชวานสไตน์เดิม
พระเจ้าลุดวิกที่ 2 ทรงใช้ชีวิตในวัยเยาว์อยู่ที่ปราสาทแห่งนี้อย่างมีความสุข และเป็นแรงบันดาลใจให้ทรงสร้างปราสาทของพระองค์เองขึ้นมา นั่นคือ ปราสาทนอยชวานชไตน์ รวมถึงปราสาทและพระราชวังอื่นๆ ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นอีกด้วย
ปราสาทโฮเฮ็นชวานเกาอยู่ไม่ห่างจากปราสาทนอยชวานชไตน์เท่าใดนัก สามารถเดินถึงกันได้ภายใน 20 นาที เราเดินขึ้นเขาไปเรื่อยๆ ต้นไม้สองข้างทางถูกปกคลุมด้วยหิมะ เสียงกรุบกรับๆ ของรถม้าที่วิ่งขึ้นลงรับนักท่องเที่ยวชวนให้เรานึกย้อนเวลาไปยังอดีตของปราสาทที่เรากำลังจะไปเยือน สมัยที่ยังใช้รถม้าจริงๆ ในการเดินทางไปยังปราสาท หวนนึกถึงประวัติความเป็นมาในการสร้าง และเรื่องราวของกษัตริย์ผู้รังสรรค์ปราสาทแห่งนี้ขึ้นมา ปราสาทที่ผู้คนต่างยกย่องให้เป็นปราสาทที่งดงามแห่งเทพนิยาย ระหว่างเดินทางขึ้นไปชมปราสาทเราย้อนเวลาไปหาอดีตกันดีกว่าค่ะ
ปราสาทนอยชวานชไตน์ สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1869 โปรดให้สร้างโดยพระเจ้าลุดวิกที่ 2 (Ludwig II of Bavaris หรือในภาษาเยอรมันว่า Ludwig Friedrich Wilhelm II von Bayern) กษัตริย์หนุ่มแห่งแคว้นบาวาเรีย ผู้มีฉายาว่า “ราชันหงส์ขาว” หรือ “พระเจ้าหงส์” ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ.1845 ที่วังนิมเฟนเบิร์ก นอกเมืองมิวนิก ในแคว้นบาวาเรีย เป็นพระราชโอรสองค์แรกของพระเจ้าแม็กซิมิเลียนที่ 2 แห่งบาวาเรีย และเจ้าหญิงมารีแห่งปรัสเซีย และทรงขึ้นครองราชย์ปกครองอาณาจักรบาวาเรียระหว่างวันที่ 10 มีนาคม ปี ค.ศ.1864 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ.1886 ในสมัยนั้นเยอรมันยังไม่ได้รวมกันเป็นประเทศอย่างในปัจจุบัน แคว้นเล็กๆ ต่างปกครองกันเอง มีกษัตริย์ของตัวเอง พระเจ้าลุดวิกที่ 2 ทรงขึ้นครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุเพียง 18 ชันษา เป็นกษัตริย์อารมณ์ศิลป์ สนใจศิลปะ ดนตรี และวรรณกรรม
พระองค์ทรงใช้ชีวิตในวัยเยาว์อยู่ที่ปราสาทโฮเฮ็นชวานเกาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งที่แห่งนี้เองเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างปราสาทนอยชวานชไตน์ ทรงประทับใจภาพตำนานอัศวินโลเฮนกริน (Lohengrin) จิตรกรรมฝาผนังที่เป็นตำนานของวีรบุรุษเยอรมัน ที่วาดบนผนังปราสาทโฮเฮ็นชวานเกาซึ่งทรงเห็นมาตั้งแต่เด็ก ก็เป็นสาเหตุสำคัญของแรงบันดาลใจที่จะสร้างนอยชวานชไตน์ทรงได้พบกับริชาร์ด วากเนอร์ คีตกวีที่พระองค์ทรงชื่นชอบผลงานและเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดของพระองค์อย่างมาก
ว่ากันว่าพระองค์ทรงมีลักษณะนิสัยที่ค่อนข้างลึกลับ แปลกประหลาด พระเจ้าแม็กซิมิลเลียนที่ 2 พระบิดามีพระประสงค์ที่จะให้การศึกษาเกี่ยวกับหน้าที่และภาระของการเป็นพระมหากษัตริย์กับมงกุฎราชกุมารลุดวิกและเจ้าชายอ็อตโตพระอนุชาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ถูกเลี้ยงมาอย่างเข้มงวด ไม่ได้เรียนและเล่นเหมือนกับเด็กๆ ทั่วไป แต่มีอาจารย์พิเศษมาสอนให้โดยเฉพาะ ถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดโดยครูที่บังคับทั้งทางวินัยและการศึกษา กล่าวกันว่าลักษณะนิสัยที่ลึกลับ แปลกประหลาด ค่อนข้างเก็บตัวและเป็นคนขี้อายของพระองค์อาจเป็นผลมาจากความเครียดและความกดดันในการที่ต้องทรงเติบโตขึ้นมาในฐานะที่เป็นกษัตริย์นั่นเอง พระองค์ทรงมีเพื่อนเพียงไม่กี่คน ที่สนิทที่สุดคือเจ้าหญิงอลิซาเบท แห่งบาวาเรีย และริชาร์ด วากเนอร์
ทรงเติบโตมากับนิทานอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงามของปราสาทโฮเฮ็นชวานเกา มีชีวิตที่ห่างไกลผู้คน สิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมให้พระองค์อยู่ในโลกของจินตนาการ เทพนิยาย ความเพ้อฝัน ทรงหลงใหลในบทละครและวรรณกรรมอย่างมาก โดยเฉพาะวรรณกรรมของวากเนอร์ เมื่ออายุได้ 15 ชันษา พระองค์ทรงได้ชมโอเปร่าเรื่อง Lohengrin ของวากเนอร์เป็นครั้งแรก ทรงประทับใจและหลงใหลในงานของวาร์กเนอร์มากยิ่งขึ้น และเหตุที่โอเปร่าของวากเนอร์เป็นที่ต้องชื่นชอบของพระองค์เป็นเพราะเนื้อหาของโอเปร่าของวากเนอร์เต็มไปด้วยอุดมคติและจินตนาการแบบเทพนิยายนั่นเอง
เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหัน พระเจ้าลุดวิกที่ 2 ทรงขึ้นครองราชย์ต่อเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ปี ค.ศ.1864ขณะนั้นทรงมีพระชันษาได้เพียง 18 ปีเท่านั้น เมื่อทรงขึ้นครองราชย์พระองค์ยังไม่พร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ทรงหมกมุ่นอยู่แต่วรรณกรรม บทละคร และดนตรี ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมืองมาก่อน ในบรรดาสิ่งแรกที่ทรงกระทำคือทรงเรียกตัววากเนอร์มายังราชสำนักด้วยความประทับใจส่วนพระองค์ ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์วากเนอร์ ทำให้เกิดบทละครชิ้นสำคัญๆ ของวากเนอร์ตามมา และวากเนอร์ผู้นี้เองคือแรงบันดาลใจในการสร้างปราสาทนอยชวานชไตน์
พระองค์ทรงหลงใหลในการสร้างปราสาทที่สวยงามไว้หลายแห่ง ทรงสร้างปราสาทนอยชวานชไตน์เพื่อเป็นที่ประทับอย่างสันโดษห่างไกลจากผู้คน ต้องการอยู่อย่างเงียบสงบ และเพื่ออุทิศให้แก่วากเนอร์ โดยสร้างให้เป็นไปตามบทประพันธ์เรื่อง อัศวินหงส์ (Swan Knight Lohengrin) ของวากเนอร์ พระองค์ทรงรักและทุ่มเทในการสร้างปราสาทแห่งนี้มาก ใช้เงินไปกับการก่อสร้างเป็นจำนวนมากจนเป็นหนี้สินล้นพ้น กล่าวกันว่า พระองค์ไม่ทรงสนใจในการบริหารบ้านเมือง อยู่ในโลกของความฝันและการสร้างปราสาท หมกมุ่นอยู่กับวากเนอร์เป็นส่วนใหญ่ จนเกิดข้อครหาเบี่ยงเบนทางเพศ
ในที่สุดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ.1886 รัฐบาลบาวาเรียแถลงการณ์ว่าพระเจ้าลุดวิกที่ 2 ทรงเป็นโรคหวาดระแวงทางจิต ไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้ และถูกปลดจากการเป็นพระมหากษัตริย์ หลังจากนั้นในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ.1886 พระองค์ถูกคุมตัวจากปราสาทนอยชวานชไตน์อันเป็นที่ประทับในขณะนั้นไปยังปราสาทเบิร์กริมทะเลสาบสตาร์นเบิร์ก (Lake Starnberg) อย่างลับๆ
ในวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ.1886 เพียงวันเดียวหลังจากถูกควบคุม มีคนพบพระศพของพระองค์ที่ทะเลสาบสตาร์นเบิร์ก พระองค์ก็ได้จากโลกนี้ไปด้วยวัยเพียง 41 ชันษา แต่สาเหตุการสิ้นพระชนม์ยังคงเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้ว่า พระองค์ถูกฆาตกรรมหรือเป็นอุบัติเหตุจมน้ำตาย หรือทรงฆ่าตัวตายเองกันแน่ นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าพระองค์ไม่มีอะไรผิดปกติแต่ทรงเป็นเหยื่อทางการเมืองเท่านั้น
ณ วันที่เริ่มสร้างปราสาทนอยชวานชไตน์ จนถึงวันที่พระองค์สิ้นพระชนม์ ปราสาทถูกสร้างไปเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ทรงรักปราสาทแห่งนี้มาก  แต่กลับมีโอกาสได้อยู่ที่ปราสาทแสนรักนี้เพียง 170 วัน ทรงตรัสในระหว่างถูกคุมขังว่า ห้ามใครมาแตะต้องดินแดนในฝันของพระองค์เด็ดขาด แต่หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ได้เพียงไม่นาน ทางเครือญาติก็ได้เปิดปราสาทแห่งนี้ให้คนทั่วไปได้เข้าชม
จากปราสาทที่พระเจ้าลุดวิกที่ 2 ทรงสร้างเพื่อใช้เป็นที่ประทับอย่างสันโดษ ห่างไกลผู้คน แต่ในวันนี้ผู้คนหลายล้านคนจากทุกมุมโลกต่างเดินทางมายังปราสาทแห่งนี้ เพื่อชมปราสาทที่งดงามดั่งเทพนิยายของพระองค์ แล้วเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน
เราเดินมาหยุดอยู่ตรงทางเข้าปราสาทพอดี แหงนมองปราสาทที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า ได้แต่ขออนุญาตเจ้าของปราสาทในใจว่าขอเข้าไปเยี่ยมชมภายในปราสาทสักหน่อย…แล้วตอนหน้าเราจะพาไปชมความงาม ภายในปราสาทนอยชวานชไตน์กันนะคะ
Related Stories